อยากลงทุนทองคำเพิ่มในพอร์ต ต้องคาดการณ์ราคาทองอย่างไร


คาดการณ์ราคาทอง

บางท่านอาจจะเข้าใจว่า การคาดการณ์ราคาทองอาจดูเป็นเรื่องที่ทำได้เฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วทุกคนก็สามารถคาดการณ์แนวโน้มราคาทองได้ หากเข้าใจปัจจัยที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำ เนื่องจากทองคำไม่ได้มีความแตกต่างจากทรัพย์สินอื่น ๆ มากนักในแง่ของความผันผวน เพราะได้รับผลกระทบเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเหมือนกัน แต่เมื่อเทียบกับทรัพย์สินอื่น ๆ ทองคำเป็นทรัพย์สินที่ค่อนข้างปลอดภัยกว่า มีอัตราความผันผวนต่ำกว่า บทความนี้จะพาผู้ที่สนใจลงทุนในทองคำไปดูกันว่า ควรคาดการณ์ราคาทรัพย์สินที่มูลค่าสูงตามกาลเวลานี้ได้อย่างไรบ้าง

อัตราความผันผวน สิ่งที่ควรรู้ก่อนคาดการณ์ราคาทอง

การคาดการณ์ราคาทองควรคำนึงถึงอัตราความผันผวนเป็นปัจจัยประกอบการพิจารณา โดยอัตราความผันผวนมีทั้งความผันผวนในระยะสั้น และความผันผวนในระยะยาว โดยอัตราความผันผวนของราคาทองในระยะสั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่หลายคนทราบกันดี ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ ค่าเงินของเงินสกุลดอลลาร์ และราคาน้ำมัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เมื่อมีการปรับตัวไปในทิศทางที่สูงขึ้น ราคาทองคำก็จะมีค่าสูงขึ้นด้วย จึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาในระยะเวลาอันสั้น 

แต่ถ้าหากเป็นปัจจัยในระยะยาว ได้แก่ สถานการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นสภาวะสงคราม วิกฤตเศรษฐกิจ หรือโรคระบาดที่ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทองคำก็ถือเป็นทรัพย์สินที่มีความผันผวนน้อยกว่าทรัพย์สินประเภทอื่น ๆ ราคาจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะยาว เพราะเป็นทรัพย์สินที่นักลงทุนมองว่ามีความปลอดภัย

ปัจจัยสำหรับคาดการณ์ราคาทอง และกรณีตัวอย่างในปี 2020-2021

คาดการณ์ราคาทอง

ก่อนการคาดการณ์ราคาทองเพื่อการลงทุน นักลงทุนควรมีเป้าหมายในการลงทุนที่ชัดเจนก่อนว่า ต้องการลงทุนทองคำเพื่ออะไร เนื่องจากการลงทุนในทองคำเหมาะกับนักลงทุนที่มีเงินเย็น เพราะทองคำไม่ได้ให้ผลตอบแทนสูงในทันที เหมือนกับดอกเบี้ย เป็นทรัพย์สินที่ต้องถือไว้เพื่อสะสมมูลค่าในระยะยาว แม้จะอยู่ในช่วงราคาตก นักลงทุนก็ยังสามารถถือต่อไปได้ ทั้งนี้การลงทุนแบบระยะสั้นก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่จะเป็นการลงทุนบนความเสี่ยงสูงแทน โดยการลงทุนในทองคำ สามารถพิจารณาจากปัจจัยทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวประกอบกันดังนี้

  1. การคาดการณ์ราคาทองเพื่อลงทุนในระยะสั้น

หากมีเป้าหมายเป็นการลงทุนเพื่อเก็งกำไรในระยะสั้น นักลงทุนจำเป็นต้องติดตามข่าวสารแบบรายวัน เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อราคาทองคำ เช่น ราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ การประกาศนโยบายทางการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกา ความต้องการทองคำในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากการพิจารณาแนวโน้มเป็นรายวันแล้ว ควรขยายเป้าหมายเป็นการคาดการณ์ราคาทองในทุก ๆ 3 หรือ 6 เดือนด้วย เพื่อประเมินแนวโน้มราคาและความเสี่ยงในการเก็งกำไรระยะปานกลาง และเพื่อพิจารณาเลือกรูปแบบการลงทุนทองคำที่เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนเอง

  1. การคาดการณ์ราคาทองเพื่อลงทุนในระยะยาว

สำหรับการลงทุนในระยะยาวนั้น จำเป็นต้องศึกษาราคาทองย้อนหลังไปถึง 5 หรือ 10 ปี เพื่อดูแนวโน้มสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในระยะยาว ซึ่งหากพิจารณาดูแล้วจะพบว่า ราคาทองคำมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะยาว เหมาะกับผู้ที่มีเป้าหมายในการถือทองคำเป็นระยะเวลาหลายปี อาจถือไว้เพื่อสะสมมูลค่า แล้วนำไปทำกำไรเพื่อใช้หลังเกษียณ หรือเก็บไว้เป็นมรดกทรัพย์สินมูลค่าสูงให้ลูกหลานถือต่อไปได้ นอกจากนี้ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือ “การผลิตทองคำ” เนื่องจากทองคำเป็นทรัพยากรมีค่าที่อาจจะหมดไปในได้อนาคต หากไม่มีการค้นพบแหล่งแร่ทองคำเพิ่มขึ้นอีก ถึงแม้ทองคำสามารถรีไซเคิลได้ เช่น การนำทองคำในแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์เก่า ๆ มารีไซเคิล แต่ก็ต้องผ่านกระบวนการซับซ้อน ต้องอาศัยการศึกษาวิจัยอีกเป็นเวลานาน

  1. ตัวอย่างการคาดการณ์ราคาทองในปี 2020-2021

ในช่วงปี 2020 หรือพ.ศ. 2563 เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ลุกลามและส่งกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลให้ราคาทองพุ่งสูงขึ้นมาก เพราะผู้คนมีความกังวลกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน จึงมีความต้องการซื้อทองคำมาก โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ราคาทองคำปรับตัวสูงที่สุดในรอบ 7 ปี คือ 1,661 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในขณะที่ราคาทองคำในประเทศไทยมีราคา 25,450 บาทในขณะนั้น ต่อมาในปี 2021 สถานการณ์โควิด-19ยังคงแพร่ระบาดอยู่อย่างต่อเนื่อง ราคาทองพุ่งขึ้นสูงสุดในช่วงปลายปีไปถึง 29,000 บาท หลังจากนั้นเมื่อวิกฤตโควิด-19 คลี่คลายลง ราคาทองมีการปรับลดลงบ้าง แต่ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ปัจจุบันในปี 2566 ราคาทองคำขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 32,800 บาทในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

จะเห็นได้ว่าการคาดการณ์ราคาทองคือการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมขนาดใหญ่ การคาดการณ์ในระยะสั้นจำเป็นต้องติดตามข่าวสารรายวัน ในขณะที่การคาดการณ์ในระยะยาวต้องศึกษาข้อมูลย้อนหลังในระยะ 5-10 ปีเพื่อประกอบการตัดสินใจ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเป้าหมายในการลงทุนของแต่ละคน ซึ่งมีปัจจัยอื่น ๆ ที่แตกต่างกันให้พิจารณาควบคู่กันไป